กฏหมายการใช้งานรอกและเครน พ.ศ. 2564

          ทางเราได้ยกเนื้อหาสำคัญเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกฏหมายรอกและกฏหมายเครนจาก“กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 ” เพื่อเป็นการประหยัดเวลาให้กับผู้อ่าน และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงตามที่กฏหมายกำหนด

รอก : อุปกรณ์ผ่อนแรงมีลักษณะคล้ายล้อเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสิ่งของ โดยร้อยไว้กับเชือก โซ่ หรือลวดสลิง

กฏหมายรอก
กฏหมายรอก
กฏหมายรอก
ปั้นจั่นหรือเครน : เครื่องจักรที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่งและเคลื่อนย้ายสิ่งเหล่านั้นในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ ชนิดอยู่กับที่และชนิดเคลื่อนที่
กฏหมายเครน , กฏหมายความปลอดภัยปั้นจั่น
กฏหมายเครน , กฏหมายความปลอดภัยปั้นจั่น
กฏหมายเครน , กฏหมายความปลอดภัยปั้นจั่น
กฏหมายเครน , กฏหมายความปลอดภัยปั้นจั่น

ปั้นจั่น

เครน

หมวดที่ 1 เครื่องจักร
ส่วนที่ 7 รอก
          ข้อ 55 ในการใช้รอกโยก รอกมือสาว รอกหางปลา รอกไฟฟ้าหรือรอกที่ใช้พลังงานอื่น หรือรอกชนิดอื่นที่มีการใช้งานลักษณะเดียวกัน นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
                1. ติดตั้งรอกไว้ในที่มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย
                      • การรับรองโครงสร้าง
                      • การคำนวณทางวิศวกรรม
                2. จัดให้มีการตรวจสอบความพร้อมของรอกทุกวัน
                      • หากส่วนใดชำรุดเสียหายต้องซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนใช้งาน
                      • ต้องมีสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจสอบความปลอดภัยได้
                3. จัดให้มีมาตรการป้องกันอันตรายและติดป้ายห้ามใช้รอกให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องเห็นได้ชัดเจน
                      • ในระหว่างที่มีการทดสอบ
                      • การซ่อมบำรุง
                      • การตรวจสอบรอก
                4. จัดให้มีป้ายบอกขนาดพิกัดน้ำหนักยกอย่างปลอดภัย
                      • ตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียด คุณลักษณะและคู่มือการใช้งานตามข้อ 8 ไว้ที่รอก
                      • พร้อมทั้งติดตั้งป้ายเตือนให้ระวัง
                5. ไม่ใช้ลวดสลิงที่มีลักษณะตามข้อ 86 กับรอก
                6. อุปกรณ์สำหรับการผูกมัดหรือยึดโยงวัสดุสิ่งของต้องมีค่าความปลอดภัยที่กำหนดตามข้อ 89
                7. ควบคุมดูแลไม่ให้บุคคลใดไปเกาะเกี่ยวกับส่วนใดส่วนหนึ่งของรอกหรือไปกับวัสดุสิ่งของที่ทำการยก และไม่ให้บุคคลใดอยู่ภายใต้วัสดุสิ่งของ                              ที่ทำการยกหรือบริเวณที่ใช้รอก อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้
                8. รอกที่มีขนาดพิกัดน้ำหนักยกตั้งแต่ 1 ตันขึ้นไป
                      • นายจ้างต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของรอกเพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
                      • ต้องมีสำเนาเอกสารการทดสอบไว้ให้พนักงานตรวจสอบความปลอดภัยได้

หมวดที่ 2 ปั้นจั่นหรือเครน
ส่วนที่ 1 บททั่วไป
          ข้อ 56 ในการประกอบ การติดตั้ง การทดสอบ การใช้ การซ่อมแซม การบำรุงรักษา การตรวจสอบ การรื้อถอนปั้นจั่น เครนหรืออุปกรณ์อื่นต่างๆ นายจ้างต้องปฏิบัติตามรายละเอียด คุณลักษณะและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ หากไม่มีรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานดังกล่าว นายจ้างต้องดำเนินการให้วิศวกรเป็นผู้จัดทำรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานเป็นหนังสือ และต้องมีสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจสอบความปลอดภัยได้ รายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานตามวรรคหนึ่งต้องเป็นภาษาไทย หรือภาษาอื่นที่ลูกจ้างสามารถศึกษาและปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการทำงานได้
          ข้อ 57 นายจ้างต้องจัดให้มีการทดสอบการติดตั้งปั้นจั่นและติดตั้งเครน เมื่อติดตั้งเสร็จตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานตามข้อ 56 ตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด และต้องมีสำเนาเอกสารการทดสอบไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้ ในกรณีที่มีการหยุดใช้งานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ก่อนนำเครนกลับมาใช้งานใหม่ นายจ้างต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่ง และทำการซ่อมแซมในจุดที่มีผลต่อความปลอดภัยประจำปี
          ข้อ 59 ในการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นและเครน นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
               1. ควบคุมให้มีลวดสลิงเหลืออยู่ในม้วนลวดสลิงไม่น้อยกว่า 2 รอบตลอดเวลาที่ปั้นจั่นหรือเครนทำงาน
               2. จัดให้มีชุดล็อกป้องกันลวดสลิงหลุดจากตะขอของปั้นจั่นหรือเครน และทำการตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย
               3. จัดให้มีที่ครอบปิดหรือกั้นส่วนที่หมุนรอบตัวเอง ส่วนที่เคลื่อนไหวได้ หรือส่วนที่อาจเป็นอันตรายของปั้นจั่นหรือเครน และให้ส่วนที่เคลื่อนที่ของปั้นจั่นหรือส่วนที่หมุนได้ของปั้นจั่นอยู่ห่างจากสิ่งก่อสร้างหรือวัตถุอื่นในระยะที่ปลอดภัย
               4. จัดให้ลูกจ้างสวมใส่เข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิตตลอดเวลาที่ทำงานบนแขนปั้นจั่น เครน หรือชุดสะพาน
               5. จัดให้มีพื้นชนิดกันลื่น ราวกันตก และแผงกันตกระดับพื้น สำหรับปั้นจั่นหรือเครนชนิดที่ต้องมีการจัดทำพื้นและทางเดิน
               6. จัดให้มีเครื่องดับเพลิงที่เหมาะสมและพร้อมใช้งานไว้ที่ห้องบังคับปั้นจั่น เครนหรือตำแหน่งที่สามารถใช้งานได้สะดวก
               7. ติดตั้งปั้นจั่นหรือเครนบนฐานที่มั่นคงโดยวิศวกรเป็นผู้รับรอง
               8. จัดให้มีการติดตั้งชุดควบคุมการทำงานเมื่อยกวัสดุขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุด (upper limit switch)ที่ใช้งานได้ตามปกติ
               9. จัดให้มีชุดควบคุมพิกัดน้ำหนักยก (overload limit switch) ที่ใช้งานได้ตามปกติ
          ข้อ 61 นายจ้างต้องเคลื่อนย้ายวัตถุไวไฟออกจากบริเวณที่ใช้ปั้นจั่นหรือเครน เว้นแต่กรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันอันตรายที่เหมาะสมก่อนให้ลูกจ้างปฏิบัติงาน
          ข้อ 62 ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างใช้ปั้นจั่นหรือเครนที่ชำรุดเสียหายหรืออยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย
          ข้อ 63 ห้ามนายจ้างดัดแปลงหรือแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งของปั้นจั่นหรือเครนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างที่มีผลต่อการรับน้ำหนัก หรือยินยอมให้ลูกจ้างหรือผู้อื่นกระทำการเช่นว่านั้น เว้นแต่นายจ้างได้จัดให้มีการคำนวณทางวิศวกรรมพร้อมกับจัดให้มีการทดสอบ และต้องมีสำเนาเอกสารการทดสอบไว้ให้พนักงานตรวจสอบความปลอดภัยได้
          ข้อ 64 นายจ้างต้องจัดให้มีสัญญาณเสียงและแสงไฟเตือนภัยตลอดเวลาที่ปั้นจั่นหรือเครนทำงาน โดยติดตั้งไว้ให้เห็นและได้ยินชัดเจน
          ข้อ 65 นายจ้างต้องจัดให้มีป้ายบอกพิกัดน้ำหนักยกไว้ที่ปั้นจั่นหรือเครน และรอกของตะขอพร้อมทั้งติดตั้งป้ายเตือนให้ระวังอันตรายที่ลูกจ้างเห็นได้ชัดเจน สำหรับปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่และปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่ ที่มีพิกัดยกหลายพิกัด นายจ้างต้องจัดให้มีตารางการยกสิ่งของตามที่ผู้ผลิตกำหนด โดยติดประกาศไว้ให้เห็นได้ชัดเจน
          ข้อ 66 นายจ้างต้องจัดทำเส้นแสดงเขตอันตราย เครื่องหมายแสดงเขตอันตรายหรือเครื่องกั้นเขตอันตรายในเส้นทางที่มีการใช้ปั้นจั่นหรือเครนเคลื่อนย้ายสิ่งของ
          ข้อ 67 นายจ้างต้องจัดให้มีคู่มือการใช้สัญญาณสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงาน ในกรณีที่การใช้สัญญาณตามวรรคหนึ่งเป็นการใช้สัญญาณมือ นายจ้างต้องจัดให้มีรูปภาพหรือคู่มือการใช้สัญญาณมือตามมาตรฐาน ASME หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า ตามแบบที่อธิบดีประกาศ กำหนด ติดไว้ที่จุดหรือตำแหน่งที่ลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานเห็นได้ชัดเจน
          ข้อ 68 ในกรณีที่มีการติดตั้งหรือใช้ปั้นจั่นใกล้สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้านายจ้างต้องควบคุมดูแลให้ลูกจ้างปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
               1. ในกรณีที่ใช้ปั้นจั่นยกวัสดุ ให้มีระยะห่างระหว่างสายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้ากับส่วนหนึ่งส่วนใดของปั้นจั่นหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของวัสดุที่ปั้นจั่นกำลังยก ดังต่อไปนี้
                      • สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 69 กิโลโวลต์ ต้องห่างไม่น้อยกว่า 3.1 เมตร
                      • สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าเกิน 69 กิโลโวลต์แต่ไม่เกิน 115 กิโลโวลต์ ต้องห่างไม่น้อยกว่า 3.3 เมตร
                      • สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าเกิน 115 กิโลโวลต์แต่ไม่เกิน 230 กิโลโวลต์ ต้องห่างไม่น้อยกว่า 4 เมต
                      • สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าเกิน 230 กิโลโวลต์แต่ไม่เกิน 500 กิโลโวลต์ ต้องห่างไม่น้อยกว่า 6 เมตร
               2. ในกรณีที่เคลื่อนย้ายปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่โดยไม่ยกวัสดุและไม่ลดแขนปั้นจั่นลงให้มีระยะห่างระหว่างสายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้า กับส่วนหนึ่งส่วนใดของปั้นจั่น ดังต่อไปนี้
                      • สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 69 กิโลโวลต์ ต้องห่างไม่น้อยกว่า 1.3 เมตร
                      • สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าเกิน 69 กิโลโวลต์แต่ไม่เกิน 230 กิโลโวลต์ ต้องห่างไม่น้อยกว่า 3 เมตร
                      • สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าเกิน 230 กิโลโวลต์แต่ไม่เกิน 500 กิโลโวลต์ ต้องห่างไม่น้อยกว่า 5 เมตร
ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตาม (1) และ (2) ได้ นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการความปลอดภัยที่เพียงพอและได้รับการอนุญาตจากการไฟฟ้าประจำท้องถิ่นที่รับผิดชอบสายไฟฟ้านั้นก่อนการดำเนินการ
          ข้อ 70 นายจ้างต้องปิดประกาศวิธีการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นหรือเครนไว้บริเวณที่ลูกจ้างทำงานเป็นภาษาไทยหรือภาษาอื่นที่ลูกจ้างเข้าใจได้ โดยอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งาน การบำรุงรักษา และการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
          ข้อ 71 ในกรณีที่ผู้บังคับปั้นจั่นหรือเครนไม่สามารถมองเห็นจุดที่ทำการยกสิ่งของหรือเคลื่อนย้ายวัสดุ นายจ้างต้องจัดให้มีผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่นตลอดระยะเวลาที่มีการใช้งาน
          ข้อ 72 นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับปั้นจั่นหรือเครน และผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ยึดเกาะวัสดุ หรือผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น ผ่านการอบรมเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการทำงานที่ปลอดภัยในการทำงานของปั้นจั่น การป้องกันอันตรายจากปั้นจั่น รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างอุปกรณ์ การตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ของปั้นจั่น รวมทั้งการฝึกอบรมทบทวนการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นแต่ละประเภท โดยวิทยากรซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นแต่ละประเภท ตามหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด

ส่วนที่ 2 ปั้นจั่นเหนือศีรษะและปั้นจั่นขาสูง
          ข้อ 73 ปั้นจั่นหรือเครน ชนิดเคลื่อนที่บนรางหรือปั้นจั่นที่มีรางล้อเลื่อนที่อยู่บนแขนปั้นจั่นหรือเครน นายจ้างต้องจัดให้มีสวิตช์หยุดการทำงานได้โดยอัตโนมัติ และให้มีกันชน กันกระแทกที่ปลายทั้งสองข้างของราง
          ข้อ 74 นายจ้างต้องควบคุมดูแลไม่ให้มีสิ่งกีดขวางการเลื่อนของล้อหรือแขนของปั้นจั่น
          ข้อ 75 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างขึ้นไปทำงานบนปั้นจั่น เครนหรืออุปกรณ์อื่นของปั้นจั่นที่มีความสูงเกิน 2 เมตร นายจ้างต้องจัดให้มีบันไดพร้อมราวจับและโครงโลหะกันตกหรือจัดให้มีอุปกรณ์อื่นใดที่มีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อลูกจ้างตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชันจากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลายจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ

ส่วนที่ 3 ปั้นจั่นหรือเครนหอสูง
          ข้อ 76 ในกรณีที่ลูกจ้างปฏิบัติงานบนแขนปั้นจั่นหรือเครน นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันการพลัดตกของลูกจ้าง และให้ลูกจ้างสวมใส่เข็มขัดนิรภัยและสายช่วยชีวิตตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน
          ข้อ 77 ปั้นจั่นหรือเครนที่มีรางล้อเลื่อน ที่อยู่บนแขนปั้นจั่น นายจ้างต้องจัดให้มีสวิตช์หยุดการทำงานของปั้นจั่นได้โดยอัตโนมัติ และให้มีกันชนหรือกันกระแทกที่ปลายทั้งสองข้างของราง
          ข้อ 78 ปั้นจั่นหรือเครนที่มีแขนเคลื่อนที่ขึ้นลงได้ นายจ้างต้องจัดให้มีสวิตช์ควบคุมมุมองศาการทำงานของแขนปั้นจั่น ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานตามข้อ 56
          ข้อ 79 นายจ้างต้องจัดให้มีตารางการยกสิ่งของตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ในรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานตามข้อ 56 ที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับน้ำหนักสิ่งของ มุมองศา และระยะของแขนที่ทำการยก ติดไว้ในบริเวณที่ผู้บังคับปั้นจั่นเห็นได้ชัดเจน
          ข้อ 80 ในการประกอบ การติดตั้ง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง การเพิ่มความสูง หรือการรื้อถอนปั้นจั่นหอสูง นายจ้างต้องจัดให้มีวิศวกรควบคุมตลอดระยะเวลาดำเนินการจนแล้วเสร็จ
          ข้อ 81 นายจ้างต้องควบคุมดูแลไม่ให้ลูกจ้างหรือบุคคลใดเกาะเกี่ยวไปกับส่วนใดส่วนหนึ่งของปั้นจั่นหรือไปกับวัสดุที่ทำการยก หรืออยู่ภายใต้วัสดุที่ทำการยกหรือบริเวณที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

ส่วนที่ 4 รถปั้นจั่นและเรือปั้นจั่น
          ข้อ 82 ในการติดตั้งปั้นจั่นบนรถ เรือ แพ โป๊ะ หรือยานพาหนะลอยน้ำอย่างอื่น นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
               1. ยึดปั้นจั่นไว้กับรถ เรือ แพ โป๊ะ หรือยานพาหนะลอยน้ำอย่างอื่นให้มั่นคง โดยมีวิศวกรควบคุมการดำเนินการจนแล้วเสร็จ และต้องมีสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้
               2. จัดให้มีป้ายบอกพิกัดน้ำหนักยกอย่างปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานตามข้อ 56 พร้อมทั้งติดตั้งป้ายเตือนให้ระวัง โดยน้ำหนักของปั้นจั่นรวมกับพิกัดน้ำหนักยกต้องไม่เกินระวางบรรทุกเต็มที่ของรถ เรือ แพ โป๊ะ หรือยานพาหนะลอยน้ำอย่างอื่น
          ข้อ 83 นายจ้างต้องจัดให้มีตารางการยกสิ่งของตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานตามข้อ 56 ที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับน้ำหนักสิ่งของ มุมองศา และระยะของแขนที่ทำการยก ติดไว้ในบริเวณที่ผู้บังคับปั้นจั่นเห็นได้ชัดเจน
          ข้อ 84 การทำงานเกี่ยวกับรถปั้นจั่นที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ นายจ้างต้องจัดให้มีการจัดทำแผนการยก และควบคุมให้มีการปฏิบัติตามแผนการยกนั้น เพื่อให้ลูกจ้างปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย
               1. การใช้ปั้นจั่นตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไปในการยกวัสดุสิ่งของ
               2. การยกวัสดุสิ่งของที่มีน้ำหนักมากกว่าร้อยละ 75 ของพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามตารางการยกสิ่งของตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานตามข้อ 56
               3. การทำงานของปั้นจั่นใกล้สายไฟฟ้าที่มีระยะน้อยกว่าระยะที่กำหนดในข้อ 68
               4. การยกวัสดุสิ่งของที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของจุดศูนย์ถ่วงของวัสดุสิ่งของที่ทำการยก
               5. การยกวัสดุสิ่งของที่อาจเกิดการระเบิดหรืออุบัติภัยร้ายแรง
               6. การยกวัสดุสิ่งของที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 25 ตันขึ้นไป
          ข้อ 85 แผนการยกตามข้อ 84 ต้องจัดทำโดยผู้ควบคุมการใช้รถปั้นจั่นซึ่งผ่านการอบรมตามข้อ 72 โดยต้องทำเป็นหนังสือและอย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
               1. ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับปั้นจั่นหรือเครน
               2. ตารางการยกวัสดุสิ่งของ
               3. รายละเอียดของปั้นจั่นหรือเครน ได้แก่ รัศมีการยกและความยาวของแขนปั้นจั่นที่ใช้ยกขณะทำการยกวัสดุสิ่งของ
               4. รายละเอียดของอุปกรณ์ประกอบการยกและลักษณะการยึดเกาะวัสดุสิ่งของ
               5. ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุสิ่งของที่ทำการยก เช่น ขนาด น้ำหนัก ตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วง โดยระบุอัตราส่วนของน้ำหนักที่ยกต่อความสามารถในการยก
               6. ความสามารถในการรับน้ำหนักของพื้นที่รองรับปั้นจั่นหรือเครน
               7. ขนาดพื้นที่ของแผ่นรองขารับน้ำหนักของปั้นจั่นหรือเครน
               8. ขั้นตอนการยกที่กำหนดมาตรการความปลอดภัยและวิธีการป้องกันอันตราย นายจ้างต้องปิดประกาศแผนการยกไว้ในบริเวณที่ทำงานให้เห็นได้ชัดเจน และต้องมีสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจสอบความปลอดภัยได้

ส่วนที่ 5 อุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับปั้นจั่นหรือเครน
          ข้อ 86 นายจ้างต้องไม่ใช้ลวดสลิงที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               1. ลวดสลิงที่ลวดเส้นนอกสึกไปตั้งแต่ 1 ใน 3 ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นลวด
               2. ลวดสลิงที่ขมวด ถูกบดกระแทก แตกเกลียว หรือชำรุดที่ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานของลวดสลิงลดลง
               3. ลวดสลิงมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กลงเกินร้อยละ 5 ของเส้นผ่านศูนย์กลางที่ระบุ
               4. ลวดสลิงถูกความร้อนทำลายหรือเป็นสนิมมากจนเห็นได้ชัดเจน
               5. ลวดสลิงถูกกัดกร่อนชำรุดมากจนเห็นได้ชัดเจน
               6. ลวดสลิงเคลื่อนที่ที่มีเส้นลวดในหนึ่งช่วงเกลียวขาดตั้งแต่ 3 เส้นขึ้นไปในเส้นเกลียวเดียวกันหรือขาดรวมกันตั้งแต่ 6 เส้นขึ้นไปในหลายเส้นเกลียว
               7. ลวดสลิงยึดโยงที่มีเส้นลวดขาดตรงข้อต่อตั้งแต่ 2 เส้นขึ้นไปใน 1 ช่วงเกลียว
          ข้อ 87 นายจ้างต้องใช้ลวดสลิงที่มีค่าความปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
               1. ลวดสลิงเคลื่อนที่ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 5
               2. ลวดสลิงยึดโยงต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 3.5
          ข้อ 88 นายจ้างต้องใช้ปั้นจั่นที่มีรอกที่มีอัตราส่วนระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของรอกหรือล้อใด ๆ กับเส้นผ่านศูนย์กลางของลวดสลิงที่พันตามที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
               1. สิบแปดต่อหนึ่ง สำหรับรอกปลายแขนปั้นจั่น
               2. สิบหกต่อหนึ่ง สำหรับรอกของตะขอ
               3. สิบห้าต่อหนึ่ง สำหรับรอกหลังแขนปั้นจั่น
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่อัตราส่วนระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของรอกหรือล้อใด ๆ กับเส้นผ่านศูนย์กลางของลวดสลิงที่พันตามที่ผู้ผลิตกำหนด
          ข้อ 89 นายจ้างต้องใช้อุปกรณ์สำหรับการผูก มัด หรือยึดโยงวัสดุที่มีค่าความปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
               1. ลวดสลิง ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 5
               2. โซ่ ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 4
               3. เชือก ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 5
               4. ห่วงหรือตะขอ ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 3.5
               5. อุปกรณ์สำหรับผูก มัด หรือยึดโยงอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ใน (1) ถึง (4) ต้องมีค่าความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 3.5
          ข้อ 90 นายจ้างต้องจัดหาวัสดุที่มีความทนทานและอ่อนตัวมารองรับบริเวณจุดที่มีการสัมผัสระหว่างอุปกรณ์ที่ใช้ในการผูก มัด หรือยึดโยงกับวัสดุที่ทำการยกเคลื่อนย้าย
          ข้อ 91 ในการยกเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของ นายจ้างต้องให้ลูกจ้างผูก มัด หรือยึดโยงวัสดุสิ่งของ โดยมีมุมองศาระหว่างอุปกรณ์สำหรับการผูก มัด หรือยึดโยงกับวัสดุที่จะทำการยกไม่น้อยกว่า 45 องศา กรณีที่มีความจำเป็นต้องทำการผูก มัด หรือยึดโยงด้วยมุมองศาที่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งนายจ้างต้องกำหนดให้มีการคำนวณแรงรับน้ำหนักของอุปกรณ์สำหรับการผูก มัด หรือยึดโยงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยโดยผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น และต้องมีสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้
          ข้อ 92 นายจ้างต้องไม่ใช้ตะขอที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               1. มีการบิดตัวของตะขอ
               2. มีการถ่างออกของปากตะขอเกินร้อยละ 5
               3. มีการสึกหรอที่ท้องตะขอเกินร้อยละ 10
               4. มีการแตกหรือร้าวส่วนหนึ่งส่วนใดของตะขอ
               5. มีการเสียรูปทรงหรือสึกหรอของห่วงตะขอ

อ้างอิง1 : คู่มือการฝึกอบรมหลักสูตร ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ยึดเกาะวัสดุ ผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น
อ้างอิง2 : อ.ณัฐพล วิธินันทกิตต์

*หากท่านใดสนใจรอกโซ่ไฟฟ้าและเครนโครงสร้าง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ในช่องทางด้านล่างได้เลยนะคะ บริษัท ย่งฮง (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าและจำหน่ายรอกโซ่ไฟฟ้าคุณภาพดี Kobec , Rhinos และเครนโครงสร้าง พร้อมรับออกแบบ ประกอบ ติดตั้ง ทั้งระบบการทำงาน และการดูแลหลังการขายพร้อมอะไหล่ให้บริการ

สนใจสินค้าหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม